เป็นสัปดาห์ที่วุ่นวายพอสมควร เนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของตัวผมและครอบครัว เมื่อสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนำรายชื่อ รมต.ใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันอังคารที่ 6 รุ่งขึ้นได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 4 รัฐมนตรีใหม่ และ 8 มีนาคม นายกรัฐมนตรีนำ รมต.ใหม่ทั้ง 4 คนเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์
4 รมต.ใหม่ชุดนี้ ประกอบด้วย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม., นายฉลองภพ สุสังกร์การ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายพลเดช ปิ่นประทีป รมช.พัฒนาสังคม และนายมรกต กรเกษม รมช.สาธารณสุข
ข่าวที่สื่อมวลชนเก็งล่วงหน้ามาตลอดระยะสุดสัปดาห์เริ่มมีเค้าความเป็นจริง ตั้งแต่วันอังคาร เมื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งลงมาหนังสือพิมพ์ทุกฉบับต่างลงภาพและประวัติ รมต.ใหม่ บางฉบับมีคำสัมภาษณ์
ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงตลอดจนลูกหลานต่างโกลาหลไปชั่วขณะ ทั้งอิ่มใจ ทั้งต้องรับโทรศัพท์ที่แสดงความยินดีที่พุ่งเข้ามาจนเป็นที่สนุกสนาน วิถีชีวิตที่เคยอยู่เงียบๆ ของผมต้องเปลี่ยนไป จริงๆ แล้วความเป็นส่วนตัวหมดไปตามสมควร การเป็นบุคคลสาธารณะและต้องออกมายืนต่อหน้าสาธารณชน พร้อมที่จะรับการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ การปรากฎตัวหน้าสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นแล้ว
เมื่อต้องเล่นบทเช่นนี้ จึงต้องเตือนสติตนเองตลอดเวลาว่า “ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”
6 มี.ค. “ทูลเกล้าฯ”
ทีมงานของ ทพ.กฤษดา (สสส.) เข้ามาพบ ปรึกษาหารืออยากให้ พม. ร่วมกับ สสส. ขับเคลื่อนงานรูปธรรมด้าน เด็ก-เยาวชน-ครอบครัว
ที่ผ่านมาต้องนับว่า สสส. เป็นองค์กรที่ได้ทำสิ่งริเริ่มดีๆ ด้านต่างๆ ไว้มากมาย ซึ่งมีหลายเรื่องที่พร้อมจะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ให้ระดับชาติได้ รวมทั้งเรื่องเด็กเยาวชน และสถาบันครอบครัว
5 เดือนที่ผ่านมา สสส. ได้มาช่วยงาน พม.อย่างแข็งขัน เรามีข้อสรุปร่วมกันในวันนี้ว่า จะทำ 3 เรื่อง
1) การดูแลหอพักนักศึกษา จะช่วยกันสร้างผลงานรูปธรรมให้สังคมได้เห็น
2) การจัดงานใหญ่ “วันครอบครัว” 5 เมษา เป็น Event ให้ รมต.และครอบครัวมาชุมนุมกัน และสื่อออกไปเพื่อสร้างกระแสสังคม
3) การร่วมกันหางบประมาณสนับสนุน กิจกรรม/โครงการสร้างสรรค์สังคมที่เครือข่ายเด็ก-เยาวชน และสภาเยาวชนอยากจะทำ
10.30 น. ทีมที่ปรึกษาด้าน จชต. มาประชุมตามนัดหมาย ขาดพลตรี พีระพงษ์ (เสธ.โจ) คนเดียว รองปลัดฯ ชาญเชาน์และคุณวรรณชัย มานั่งคุยกันอยู่นาน
ในการประเมินล่าสุดเราพบว่า
– ในขบวนก่อการมิได้เป็นเอกภาพ คือมีทั้งซ้ายสุด กลางและพวกเอียงขวาเช่นกัน ฝีมือการก่อเหตุเมื่อตรุษจีน (18 กพ.) เป็นฝีมือแท้ๆ ของขบวนส่วนใหญ่ที่เป็นสายกลางของพวกเขาพวกนี้จะมุ่งเป้าที่ภาคธุรกิจ, อำนาจรัฐและสถานเริงรมย์ เป็นหลัก ผิดกับพวกซ้ายจัดของขบวนที่มุ่ง “ฆ่าตัดคอ” สร้างความสยดสยองสะใจ
– การลาดตระเวนของหน่วยทหารไปพบค่ายฝึกกำลังของขบวนการและฆ่าฝ่ายขบวนการได้ 8 ศพเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผลที่ตามมาก็คือฝ่ายนั้นตอบโต้ด้วยการเก็บชาวบ้านทีละศพจนขณะนี้ได้เกินที่สูญเสียไปแล้ว!! หากใช้วิธีฆ่ากันไปมาผลก็ลงเลยแบบนี้ไปเรื่อยๆ
– รองปลัดชาญเชาว์ confirm ว่า ฝ่ายความมั่นคงและราชการทั่วไป รวมทั้งข้างบนน่าจะยอมรับข้อเสนอได้แค่ “การมีท้องถิ่นพิเศษ” เท่านั้น ถ้าหากจะเลยไปถึงการมี “เขตปกครองพิเศษ” “เขตปกครองตนเอง” น่าจะไม่ยอม แง่คิดตรงนี้เป็นประโยชน์ในการนำมาวางแผนร่างกฎหมาย ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์ และสังเคราะห์ข้อเสนอทางออกทางเลือกใหม่ๆ เผื่อว่าวิธีการของรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้
14.00 น. ประชุมผู้บริหาร พม. ประจำเดือน ถูกแซวจากผู้บริหารว่า “จะแสดงความยินดีกับ รมต.ใหม่ ได้หรือยังครับท่าน?” จึงบอกไปว่า “รอไปก่อน-เดี๋ยวจะเสียรังวัดครับ”
วันนี้ทาง สลน.ได้นำหนังสือขึ้นทูลเกล้า เรื่องแต่งตั้ง รมต.ใหม่ 4 ตำแหน่งแล้ว
ที่ประชุม ครม.วันนี้มีเรื่อง itv ที่ต้องคุยกันมากที่สุดและเป็นเรื่องร้อนที่สุด
– บริษัทฯ ไม่ยอมจ่ายเงินค่าปรับ 3,000 ล้านตามคำสั่งศาล รัฐจึงต้องยึดคลื่นและสถานีคืนทันที
– เมื่อยึดคืนมาจะบริหารอย่างไร, โดยใคร, เมื่อไร และจะปล่อยหน้าจอ TV ให้ “มืด” ไประยะหนึ่งหรือเปล่า…สรุปว่าจะให้กรม ปชส. เข้าไปดูแล, สปน. เข้าไปยึดทรัพย์สินทั้งหมด, หน้าจอ TV อาจจะมืดสัก 3-4 วัน เพื่อรอความชัดเจน ส่วนพนักงานให้มีการดูแลทั้งหมดเหมือนเดิมโดยไม่ให้เดือดร้อนเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นประเด็นการเมือง ทั้งๆ ที่ตามกฎระเบียบราชการทำไม่ได้”
บ่ายวันนั้น พนักงานไอทีวี ร้องไห้กันระงม รายการ itv ทุกรายการหันมาพูดเรื่องอนาคต itv กันโดยพร้อมเพรียง ตัวแทน itv เข้าร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้คุ้มครองและให้ออกอากาศได้ต่อไปในระหว่างนี้
เรื่อง itv ประเด็นสำคัญ คือ
1. เดิม itv ตั้งขึ้นหลังพฤษภาทมิฬ 2535 โดยมุ่งหมายให้เป็น TV อิสระของรัฐที่ให้ความรู้ 70 : บันเทิง 30 แต่ต่อมากระบวนการธุรกิจการเมืองได้เข้ามาเปลี่ยน ทำให้ itv เป็นของเอกชนร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วสุดท้าย ประเทศสิงคโปร์โดยกองทุน TEMASEK เข้ามาเป็นเจ้าของ ผ่านการขายหุ้นของกลุ่ม shincorp
2. itv ได้ปรับผังรายการใหม่เพื่อสนองตลาด เน้นการบันเทิงเป็นการใหญ่เพื่อหากำไร โดยไม่สนใจเจตนารมณ์ดังเดิม 70:30 ด้วยเหตุนี้จึงถูกปรับร่วมแสนล้านบาท ขณะเดียวกันยังเบี้ยวค่าเช่าอีกเกือบ 3,000 ล้านบาท
3. สุดท้าย itv ใช้วิธีไม่จ่ายเงินค่าเช่า 3,000 ล้านบาท เมื่อถึงกำหนด จึงถูกยึดคืนคลื่น ตามสัญญาสัมปทาน แต่บริษัท itv ก็ยังคงเป็นบริษัท, พนักงาน itv ทั้งหมด บริษัทก็ต้องดูแล ไม่ใช่โยนให้รัฐหรือรัฐจะไปโอบอุ้มได้
4. เมื่อยึดคลื่นแล้ว รัฐ (โดยกรม ปชส.) ผู้ดูแลจะใช้คลื่นอย่างไร/หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของรัฐ เช่นจะปล่อยให้จอมืดไปก่อน, จะเอาเทปรายการต่าง ๆ มาหมุนเวียนออกไปก่อน, จะ …….. ฯลฯ
5. นอกจากนั้นรัฐ (โดย สปน.) มีหน้าที่ต้องฟ้องร้องดำเนินคดี, ยึดทรัพย์ itv มาชดเชยค่าปรับจำนวน 3,000 ล้าน ซึ่งคาดว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดของบริษัท itv จะมีไม่คุ้ม จึงต้องฟ้องให้ล้มละลายไปตามขั้นตอน และต้องใช้เวลา
6. ต่อไปถ้าจะให้ อสมท. หรือ สทท.11 เข้าไปดูแลต่อ ก็ต้องมีการจัดองค์กรบริหารใหม่ทั้งหมด รวมทั้งเรื่องบุคลากรด้วย ซึ่งพนักงาน itv เก่าจะเข้ามาสมัครก็ต้องว่ากันไปตามขั้นตอนและระเบียบข้อบังคับใหม่ มิใช่ว่าจะรับทั้งหมดและในเงื่อนไขเงินเดือนค่าตอบแทนแบบเดิม
เรื่องนี้นายก, รัฐบาล, กรม ปชส., สปน., ยังคิดไม่ทะลุ และดูเหมือนว่าจะไม่ทันเกมการเมืองและธุรกิจ พลอยทำให้คะแนนนิยมตกไปมาก
19.00 น. ไปออกรายการ สทท.11 เรื่อง “พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น….” เวลา 20 นาที พิธีกรสามารถดำเนินรายการได้กระชับตรงประเด็นดี ทำให้ผมอธิบายได้ครบถ้วนในประเด็นสำคัญๆ
7 มีนาคม “โปรดเกล้าฯ”
9.00 น. ไปเปิดงานและบรรยายพิเศษให้กับการสัมมนาเครือข่าย ศูนย์ประสานงานป้องกันและลดความรุนแรง “ศป.ลร.” และ “คลีนิกความยุติธรรมจังหวัด”
งานคลีนิกยุติธรรมจังหวัดที่ผมเตรียมงบประมาณไว้ 7.5 ล้านบาท สำหรับ 75 จังหวัดนั้น เพิ่งจะเริ่มขับเคลื่อนได้ในวันนี้
ศป.ลร. ได้เลือกทำงานกับเครือข่าย “ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน” ของ สป.สช. ที่มีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้ขับเคลื่อน
ดูท่าจะไปกันได้ดี เพราะมีหมอปกรณ์ (แมน) เด็กหนุ่มที่เข้าใจงานเชิงยุทธศาสตร์ทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมประสาน
14.00 น.ไปประชุมคณะอนุกรรมการบริหารโครงการเครือข่ายเยาวชนประชาธิปไตย” ที่ อาคาร สท. (มักกะสัน) โครงการนี้ผมตั้งงบประมาณไว้สำหรับเครือข่ายคนเดือนตุลา รวม 5 โครงการย่อย งบประมาณ 20 ล้านบาท ผมในฐานะเลขา รมว.เข้าไปร่วมประชุมในฐานะที่ปรึกษาโครงการ
พอเริ่มประชุมได้ไม่ถึง 10 นาที มีโทรศัพท์จากสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พอ.อภิชาติ แจ้งว่า “พี่หมอครับ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รมต. ลงมาถึงแล้วเดี๋ยวนี้เอง! พี่จะต้องเข้าเฝ้าเพื่อถวายคำสัตย์ปฏิญาณพรุ่งนี้ 16.00 น.ครับ”
ทันทีที่ได้รับข่าวที่แน่ชัด ผมโทรไปบอกคุณแม่ที่พิษณุโลกว่า “โปรดเกล้าแต่งตั้งผมเป็นรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้วครับแม่” คุณย่าของเด็กๆ ดีใจมาก จนเสียงสั่นเครือไปหมด
ผมกลับเข้าที่ประชุม พร้อมกับขอตัวกลับไปเตรียมงานด่วนที่ประชุมส่งเสียงเฮ และแสดงความยินดีกันยกใหญ่
กลับมาถึงกระทรวง มีผู้สื่อข่าวรอท่าอยู่แล้วจะขอสัมภาษณ์ ผมขอเวลาเป็น 16.00 น. เพราะจะเตรียมสาระให้พร้อม เพื่อสื่อให้ประชาชนรู้ว่าผมคิดอะไร และตั้งใจจะทำอะไรในช่วง 7 เดือนที่เหลือ ซึ่งรองนายกไพบูลย์ขอมาร่วมแถลงด้วย
ถึงตอนแถลงข่าว รมว. และ รมช. นั่งคู่กัน มี TV ทุกช่องและหนังสือพิมพ์หลักทุกฉบับ อาจารย์ไพบูลย์เป็นผู้เริ่มก่อน ท่านเตรียมเอกสาร 1 แผ่น แจกผู้สื่อข่าว บอกว่า 3 เรื่องที่ท่านจะทำมีอะไรบ้าง บรรยากาศชื่นมื่นครื้นเครงมาก
ถึงทีผม ไม่มีเอกสารแต่ใช้วิธีร่ายยาวว่าจะสานต่องาน 5 เดือนแรก ทำอย่างน้อย 5 เรื่องสำคัญให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
1. พัฒนาระบบสวัสดิการท้องถิ่น เพื่อวางรากฐาน “สังคมไม่ทอดทิ้งกัน” ใน7,416 อบต.และ 1,145 เทศบาล
2. ขยายเครือข่ายสวัสดิการชุมชนเพื่อวางรากฐาน “สังคมเข้มแข็งจากฐานราก” ผ่านองค์กรชุมชน 20,000-75,000 องค์กร
3. ร่วมคลี่คลายปัญหา จชต.
4. ขันอาสาถอดสลักความรุนแรงของสังคมไทย
5. ขับเคลื่อนวาระเด็กของ ครม. โดยเน้นการจัดระเบียบหอพักใน 1,145 เทศบาลและพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย 140 แห่ง
หลังแถลงข่าว มีนักข่าวหญิงของบางกอกโพสต์คนหนึ่งขอตามไปสัมภาษณ์ต่อเป็นการเฉพาะ ทราบภายหลังว่าชื่อคุณอันจิรา อัศวานนท์ เป็นนักข่าวที่มีคุณภาพสูง เคยสัมภาษณ์ผมหลายครั้ง และเขียน Report ได้แก่นสารดีทีเดียว
ผลกระทบจากการแถลงข่าววันนั้น สื่อมวลชนมีภาพประทับใจในทางบวกพอสมควร ในลักษณะที่ว่า “รมช.พูดได้เป็นรูปธรรม!” “รมช.มีความพร้อมและศักยภาพ”
18.00 น. รองนายก ชวน นพ.สุวิทย์ วิบูลผลประเสริฐ มาปรึกษางานที่ทำเนียบ โดยคาดหมายว่าหมอสุวิทย์จะมาช่วยในฐานะ “รองเลขาธิการนายก” มี ทปษ.เอนก คุณสินและคุณจิริกา ร่วมคุยอยู่ด้วย
หมอสุวิทย์ เป็นคนเก่ง ฉลาด และบริหารจัดการเป็น น่าจะเป็นคนช่วยพี่ไพบูลย์ได้มาก เพราะถึงตอนนี้ผมไม่สามารถตามไปช่วยที่ทำเนียบได้ จึงต้องมีคนแบบนี้มาเสริม
อ.ประเวศท่านเชียร์พี่สุวิทย์มาก และลงแรงกล่อมจนเจ้าตัวยอมมาอย่างจำใจ ที่จริงหมอสุวิทย์ แกไม่อยากมาเลย เพราะมีงานระดับ Global อยู่เต็มมือ, งานที่ช่วย รมต.สธ. ก็มีมาก นอกจากนั้นยังเป็นข้าราชการระดับ 11 ของกระทรวง (ด้านวิชาการ) อีกด้วย
คุยกันสักชั่วโมงเศษ ผมยอมรับว่าพี่สุวิทย์แกเก่งและโชกโชนกับงานลักษณะนี้มามาก เพราะในกระทรวงสาธารณสุข พวกเรา (แพทย์ชนบท) เข้ามาขับเคลื่อนในกลไกบริหารระดับสูงของกระทรวงมาอย่างต่อเนื่องจึงสั่งสมประสบการณ์ไว้เยอะ
แต่การบริหารจัดการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน บ่อยครั้งก็ต้องกระเดียดไปทาง “เผด็จการ” ซึ่งพี่สุวิทย์นี่ขึ้นชื่อลือชา
หลังการพูดคุย ทุกคน Happy เอนกชอบ style นี้มาก ตกลงกันว่า ทีมที่ทำเนียบอย่างน้อยจะมี ไพบูลย์, เอนก, สุวิทย์, จิริกา และวรัญญา (ขอตัวจากสภาพัฒน์มาช่วยเต็มเวลา)
ส่วนผมและสินจะอยู่ทาง พม. สินจะทำหน้าที่เลขา รมว. แทนผม ในขณะที่ผมต้องทำหน้าที่ รมต. แทน อ.ไพบูลย์ทุกอย่าง
8 มี.ค. “เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ”
งานวันสตรีสากล รมว. ไปร่วมงานและต้อนรับนายกซึ่งมาเป็นประธานที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต ผมถือโอกาสโดดร่มอยู่เตรียมตัว-เตรียมงานที่กระทรวง รอเอาไว้พบนายกอีกทีตอนเข้าเฝ้าในหลวงก็แล้วกัน
เช้านี้หนังสือพิมพ์พากันลงข่าว 4 รมต.ใหม่ ลงรูปและประวัติหลายฉบับ มีบทรายงานข่าวสัมภาษณ์จากที่แถลงข่าวเมื่อวาน ภาพรวมๆ สะท้อนออกมาในลักษณะที่ พม.จะมีความเปลี่ยนแปลงสู่ผลงานเชิงรูปธรรมมากกว่าเดิม
มีบทรายงานสองชิ้นใน Bangkok Post ทำเอาอาจารย์หมอประเวศ ปลื้มอกปลี้มใจจนต้องโทรมาบอกภรรยาผมให้หาอ่านโดยเร็ว ทั้ง 2 บท เป็นสิ่งที่คุณอันจิรา สัมภาษณ์ผมเมื่อวาน รายงานชี้ทำนองว่าที่ผ่านมางานของกระทรวง พม. มีแต่นามธรรมเพราะ รัฐมนตรีพูดแต่หลักการ หลักคิด และใช้ “ภาษาเทพ” จนนักข่าวพากันบ่น บทความระบุว่าหากจะขอรายละเอียดและเรื่องราวจริง ต้องหันมาถามหมอพลเดช (ลข. รมว.) เสมอ และยังทิ้งท้ายว่า “ดูเหมือนว่า พม.น่าจะพ้นจากการถูกเรียกเกียร์ว่างกันสักที”
ส่วนบทสัมภาษณ์ Bangkok Post อีกชิ้นในฉบับเดียวกัน ให้รายละเอียดด้วยว่า งาน (Mission) 5 อย่างมีอะไรบ้าง และจี้ถามประเด็นสำคัญเช่นว่าจะมีอะไรแตกต่างกันบ้างในระหว่างเป็นเลขากับเป็น รมต.? พลเดช และไพบูลย์จะมีอะไรต่างกันในด้านการบริหารกระทรวง พม.?
หลายฉบับวิเคราะห์ถึงประวัติและผลงานของผมว่า “Impressive” มีความรู้ความสามารถประสบการณ์ที่หลากหลาย ไทยรัฐถึงกับมองว่า “จะเป็นคนที่สยบคลื่นใต้น้ำจากรากหญ้าตัวจริง” โพสต์ทูเดย์ลงรูปตอนแถลงข่าวของ รมว. และ รมช. พาดหัวว่า “ชื่นมื่น”
ได้เรื่องเลย TV หลายช่อง และวิทยุหลายสถานี เข้าคิวขอสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์รวมทั้ง ช่อง11, 5, UBC และช่อง 3
11.00 น. นักข่าวหนังสือพิมพ์ไพสต์ทูเดย์ คุณธรรมสถิตย์ ผลแก้ว มาสัมภาษณ์ตามนัด เพื่อจะลง Scoope เต็มหน้าวันสุดสัปดาห์
ธรรมสถิตย์ เป็นนักข่าวที่มีคุณภาพอีกคนหนึ่ง เคยสัมภาษณ์ผมลง Post Today อยู่เนื่องๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีวิกฤตทางการเมือง หรือประเด็นร้อนๆ พวกเขาปฏิบัติต่อผมในฐานะแหล่งข่าว และองค์ความรู้สำคัญของสื่อ
15.00 แต่งตัวชุดปกติขาว (เป็นครั้งแรกในชีวิต) เจ้าหน้าที่ สร.เข้ามาช่วยกันติดบั้ง และเหรียญตรา ปรากฎว่าผมไปถึงที่นัดหมายเป็นคนแรก จึงต้องนั่งรออยู่ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ต่อมาจึงมี นพ.มรกต, อ.ไพบูลย์ และ อ.ฉลองภพ มาถึงตามลำดับ พวกเรานั่งคุยกันระหว่างรอท่านนายกสุรุยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งจะเป็นหัวหน้าทีมนำเข้าเฝ้าฯ
นายก รมต. วันนี้มีภารกิจมาก เช้าไปเปิดงานสตรีสากลให้ผม เสร็จแล้วบินไปอีสาน กลับมาพบแขกพิเศษ เสร็จแล้วจึงแต่งตัวลงมาร่วมสมทบ
ผมทักทายท่านนายก โดยมิได้พูดอะไรนอกจากยิ้มให้ท่านแบบคนกันเอง ท่านเปรยติดตลกว่า “รมต.ชุดนี้มีแต่หมอ!” พวกเราพากันหัวเราะครื้นเครง
เมื่อพร้อมแล้ว ออกเดินทางที่หน้าตึกจะลงบันไดเพื่อขึ้นรถ ปรากฎว่าเขาเตรียมสำหรับถ่ายรูปที่ตรงหน้าบันไดนั่นเอง ช่างภาพและนักข่าวเต็มไปหมด จับภาพอิริยบถ 4 รมต. + นายกกันอย่างหลากหลาย จนเป็นที่ปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์ในวันต่อมา และหน้าจอ TV ก็มีรายงานสดทันทีเช่นกัน
รถตู้ที่มีขบวนนำหน้า พาเราไปยังพระราชวังสวนดุสิต มีทหารคอยอารักขา และแสดงความเคารพไปตลอดทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าเขตพระราชวัง โดยมีเครื่อง x-ray ตรวจอาวุธรอท่าอยู่แล้ว เราเดินตามท่านนายกไป ท่านทำความเคารพพระราชฐาน พวกเราก็ทำตาม ตอนเดินเข้าเขตพระราชฐานชั้นใน บริเวณสนามหญ้ามองเห็นรั้วเตี้ยๆ กั้นบริเวณที่สุนัขทรงเลี้ยง มองเห็น 7 – 8 ตัวกำลังวิ่งเล่นกันอยู่
เขาพาพวกเราเข้ามาที่พระราชวัง ส่วนที่จะทำพิธี ต้องนั่งรออยู่ที่ห้องรับแขกเจ้าหน้าที่พระราชวังมาซักซ้อมพวกเราให้เข้าใจขั้นตอนในพิธีการ อ.มรกตสรุปว่าเราต้องถวายคำนับทั้งสิ้นรวม 6 ครั้ง! จากนั้นเขาพาพวกเราไปยืนรอเสด็จพระเจ้าอยู่หัวเสร็จอยู่สักครู่ พระองค์ท่านพระราชดำเนินมาช้าๆ โดยใช้ไม้เท้ายัน (walking stick)
ตำแหน่งที่พวกเรายืนแบ่งเป็น 3 แถว

ถวายความเคารพ นายกเปิดฝากรวยพิธีกรรม นายกกล่าวถวายรายงาน ว่า ตามที่โปรดเกล้าแต่งตั้ง รมต. ใหม่ จึงได้นำตัวมาถวายคำสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง จากนั้นกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณ พวกเรากล่าวตามจนจบ , เคารพ
พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำเนินมาใกล้ๆ ทรงกล่าว “ขอบใจ” ที่เสียสละเข้ามาทำงานให้ชาติบ้านเมือง ท่านย้ำให้ “ทำงานร่วมกันให้ได้” และให้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ พระองค์ท่านตรัสเป็นเวลานานมากกว่าทุกครั้ง พระสุรเสียงของท่านเบามากจนทำให้ผมต้องคอยชะโงกยื่นหน้าไปฟัง (ตอนหลังมีคนที่ดูข่าวในพระราชสำนักทักว่าผมยืนตัวเอียง!!) ท่านพูด ท่านยิ้ม และสบตามพวกเราทีละคน กลับไปกลับมาตลอดเวลา เมื่อจบท่านก็ลา เราถวายคำนับจนลับประตูท้องพระโรงไป
เนื่องจากเป็นกลุ่มเล็กเขาไม่ได้เตรียมไมโครโฟนถวายเสร็จพิธี อ.มรกตบอกว่า ท่านฟังในหลวงได้ยินเพียงแค่ 5% เท่านั้น คนแก่ หูตึง และอยู่ไกลที่สุดฟังได้ 5% ก็ดีถมไปแล้ว (ผมนึกในใจ) แต่ผมก็ฟังได้ยินสัก 30% เห็นจะได้
ก่อนออกจากพระราชวัง มีการถ่ายรูปหมู่อีกครั้ง ที่หน้าบันได เราเดินผ่านรั้วสุนัขทรงเลี้ยงอีกครั้ง พวกมันกำลังวิ่งเล่นกันเหมือนเด็กหรือทหาร ฝึกข้ามเครื่องกีดขวาง ระหว่างขึ้นรถตู้กลับเข้าทำเนียบ มองเห็นรถหยุดตามท้องถนนเพื่อให้ขบวนของเราผ่านไป จึงรำพึงกับ อ.มรกตว่า “นี่เพราะเป็นเสนาบดี ถึงได้มีพิธีการและการอำนวยความสะดวกพวกเราปานนี้”
ผมกลับถึงกระทรวงด้วยรถเก๋ง Toyota Vios คันเล็ก ที่กระทรวงมีคณะมาแสดงความยินดีหลายชุด พวกเราพากันพูดคุยด้วยความชื่นใจและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
ทำงานต่ออีกพักใหญ่ เจ้าหน้าที่มาพาออกไปทำพิธีไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวง 5 แห่ง แล้วกลับมาที่ห้อง รอเวลาไปทานเลี้ยงพบปะกับกลุ่มธุรกิจ CSR จากตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
18.00 น. นักธุรกิจ กลต. และกลุ่มงานอาสาสมัคร พม.ประสานให้มีการพบปะหารือระหว่าง กลต.กับ รมว.พม. ช่วยกันคิดวิธีการทำงานส่งเสริม CSR อย่างจริงจัง ฝ่าย กลต. นำโดยคุณวิจิตร สุพินิจ อดีตผู้ว่า ธปท. และ รมต. คลัง และผู้บริหารของ กลต. ฝ่ายเรามี รมว., รมช., ผอ.สุวินัย, คุณชินชัย, คุณสารภี ศิลา, คุณสุกิจ, ดร.วรพัฒน์ (Kenan Asia) ฯลฯ สรุปประเด็นได้ว่า
– กลต. มีมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว มีการนำเงิน 1% ของรายได้มาตั้งเป็นกองทุนไปทำงานสาธารณประโยชน์ ซึ่งต่อไปจะใช้ concept มูลนิธิชุมชนมาเสริมแนวทางการทำงาน
– กลต. จะตั้ง สถาบัน CSR ขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกบริหารจัดการการขับเคลื่อน CSR เป็นการเฉพาะ
– จะทำ Work shop เล็ก ๆ ไปก่อน จนกระทั่ง เมษา-พฤษภา อาจมี Event ใหญ่ในการ kick off โดยนายก/รองนายก ฯลฯ เป็นประธาน
– จะเชื่อมโยงงาน CSR ไปถึงเครือข่ายโรตารี ไลอ้อน สมาคมธนาคาร, สภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้า ด้วย
9 มี.ค.
– โทรทัศน์ UBC 2 รายการตั้งแต่เช้า ต่อสายสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในฐานะ รมต.ใหม่ เขาอยากรู้ว่าจะมี mission อะไรที่สำคัญบ้าง
– ช่วงเช้ารับแขกที่มาแสดงความยินดีถึงกระทรวง 5-6 ชุด จากมูลนิธิญาติวีระชน 14 ตุลา, จาก LDI, จาก สปสช., จาก TV7, จาก กฟผ., พอช.
– 11.00 น. พบกลุ่มชุมชน 25 ชุมชนมาบตาพุด (เทศบาลมาบตาพุด + อบต.บ้านฉาง) โดย อ.สันติวิกา พานิชกุล พวกเขามาให้ข้อมูลว่าที่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก (ESB) นั้นมีปัญหามลภาวะมากจริงๆ แต่พวกเขาก็พยายามหาทางแก้ไขร่วมกับรัฐอยู่แล้ว และไม่เห็นด้วยกับกลุ่มที่ต่อต้านคัดค้าน (ที่นำโดย คุณสุทธิ)
– กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับ ปตท. (ถูกข้อหาว่าเป็นชุมชนจัดตั้งของ ปตท.) พวกเขาเพิ่งจะเข้าพบรองนายกโฆษิต เสนอแผนแก้ปัญหา/ฟื้นฟู สวล. 5 โครงการวงเงินงบประมาณ 410 ล้านบาทซึ่งรองนายกพอใจมากและรับปากสนับสนุน
– วิธีการของกลุ่มนี้มุ่งการอยู่ร่วมกันในระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชน แต่ก็ตระหนักถึง สวล.ที่เสียหาย, สุขภาพประชาชนที่กระทบ
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจในกรณีนี้คือ
1. เมื่อเริ่มต้น ESB นั้น TDRI เสนอให้เอาใจใส่ต่อประเด็น urbanization, ประเด็น สวล., ประเด็นกองทุนการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่รัฐโดยการนิคมแห่งประเทศไทยและกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ทำกันเลย ปล่อยให้ธุรกิจเอาแต่ได้และทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างสะดวกสบายจึงทำให้ สวล.และชุมชน ทรุดโทรมถึงขั้นวิกฤต
2. เมื่อผลกระทบเป็นเช่นนี้ จึงเกิดสลัมเต็มไปหมดจากการอพยพแรงงานเข้ามาแสวงโชค, สุขภาพประชาชนแย่มาก, สวล. เหม็นเน่าเป็นพิษ จึงทำให้เกิดแรงต้านจากภาคประชาชนในท้องถิ่นดั่งเดิมอย่างรุนแรง บางครั้งบางคราวถึงขั้น “สุดโต่ง” ก็มีเพราะหาไม่แล้วจะปล่อยปะละเลยกันไปอีก
3. ประชาชนจึงมี 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งอยากแก้ปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่อีกขั้วหนึ่งใช้วิธีต่อสู้ขัดขวาง
4. ทั้ง 2 ฝ่ายวิ่งเข้ามาหารัฐมนตรี พม. และรัฐบาล รวมถึง สธ. อต., ทส.ด้วย หน่วยงานระดับกระทรวงเองก็แบ่งเป็น 2 ขั้ว ฝ่ายหนึ่งมี สธ. + พม. จะอยู่ฝ่ายชาวบ้านที่ต่อต้าน อีกฝ่ายหนึ่ง อต.และ ทส.อยู่ข้างฝ่ายชุมชนจัดตั้ง
เรื่องนี้คงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ พม. ต้องแสดงบทบาทที่ชัดเจน ต่อหน้าสาธารณะและทุกฝ่ายทั่วประเทศ รวมทั้งพรรคพวกเพื่อนฝูงที่รู้จักมักคุ้นกันกำลังจับตามอง
12.00 น. ไปร่วมประชุมคณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียวที่ ปตท. ซึ่งครั้งนี้เป็นการประชุมร่วมระหว่างกรรมการ 2 คณะ คณะคัดเลือก + คณะตัดสิน
ท่านประธาน (พณฯ อานันท์ ปันยารชุน) กล่าวแสดงความยินดีและให้กำลังใจผมจึงถือโอกาสกราบผู้อาวุโสทุกท่าน มีทั้ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล อ.มีชัย วีระไวทยะ, ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์, ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์, ฯลฯ
17.00 น. มีนัดสัมภาษณ์ นสพ. ไทยโพสต์เพื่อลงแทบลอยด์ วันอาทิตย์นี้ ทีมไทยโพสต์ชุดนี้ถือเป็นทีมคุณภาพทีมหนึ่ง
หัวหน้าทีมเป็นผู้ยิงคำถามได้คมมาก บท scoope ตีพิมพ์สัมภาษณ์ผมขึ้นหน้าปกแทบลอยด์มา 2 ครั้งแล้ว ครั้งแรกปี 2548 ในช่วง “รณรงค์ Vote ยุทธศาสตร์” ครั้งที่ 2 ในช่วง “งาน 30 ปี 6 ตุลากับความแตกแยกของคนเดือนตุลา”
ระหว่างให้สัมภาษณ์อยู่ข้างล่าง ห้องประชุมชั้น 2 ก็มีการประชุม think tank ของรองนายกที่เชิญนักวิชาการและนักพัฒนาอาวุโสมาหารือขอแง่คิดในการทำงานที่ทำเนียบ
10 มี.ค. 10.00 น.ผมเรียกประชุมขุนพล LDI เพื่อปรึกษาและมอบหมายงาน 7 ภารกิจใน 7 เดือน ให้ช่วยกันคิด วางแผนและแบ่งหน้าที่กัน
12.00 น. ไปทานเลี้ยงแสดงความยินดีจากกลุ่มเพื่อนมหิดลเดือนตุลา นำโดยพี่หมอจำรัส, พี่หมอพงษ์พัฒน์ มี พญ.สายพิณ, นพ.วิญญู, นพ.อิทธิ, นพ.สุรพงษ์ (เบิร์ด), นพ.ศุภมิตร, พญ.ลัดดา
พวกเราพี่น้องคุยกันเป็นที่สนุกสนาน ถือเป็นการพบปะสังสรรค์ไปในตัว
19.00 น. ไปทานเลี้ยงรับการแสดงความยินดีจากกลุ่มเพื่อน สหายเขตงาน 196 ที่ภัตราคารแถวถนนเอกมัย-รามอินทรา
ส.เพ็ชร (คุณภราดร พงษ์สุวรรณ) เป็นผู้นัดหมาย, มี ส.ทาน, ส.ธาร, ส.สงคราม, ส.สม, ส.ธร, ส.สามารถ ส.เดชา, ส.สา
พวกเขาเลี้ยงแสดงความยินดีต่อกลุ่มเพื่อนเขตงาน 196, 2 คน ที่กำลังมีบทบาทในวงการเมืองการบริหารประเทศ
คนหนึ่งกำลังโด่งดังในซีกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ในบรรดา สนช. 242 คน เขาโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ เขาคือ คุณประพันธ์ คูณมี หรือ ส.สงคราม[1]
อีกคนหนึ่ง คือ ผม (ส.มานะ) ที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็น รมต.ใหม่
พวกเขามีข้อแนะนำผมมากมาย และเห็นได้ชัดว่าพวกเรายังคงมีความผูกพันที่แน่นแฟ้นไม่เสื่อมคลาย ในขณะที่กลุ่มสหายในหลายเขตงานแตกกันเป็นเสี่ยงท่ามกลางความขัดแย้งขับไล่ทักษิณ ช่วงที่ผ่านมา
ส.เพ็ชร บอกว่า “ขณะนี้พวกเขตงานอื่นๆ เขากระแนะกระแหนว่าเขต 196 กำลังได้ดีกับรัฐบาลที่ได้มาจากรัฐประหาร!”
ซึ่งก็มีส่วนจริง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพราะช่วงที่ผ่านมาเราช่วยกันโค่นทักษิณ ในขณะที่พวกเขตงานอื่นๆ อยู่ข้าง ทรท.
เวลานั้น ส.สงคราม (ประพันธ์) ก็เป็นแกนเคลื่อนสำคัญของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบนเวที ส่วนผมก็เป็นคนเชื่อมร้อยเครือข่ายมวลชนอยู่ข้างล่าง
เวลานี้เรา 2 คน มีบทบาทต่อเนื่อง
และที่น่าสังเกต คือ เราทั้ง 2 คน ตอนอยู่ในป่า ก็อยู่หน่วยจรยุทธ์เดียวกันเสียด้วย หน่วยของเรามี ส.สงคราม, ส.ร., ส.สม และ ผม (ส.มานะ)
11 มีนาคม หมอทวีศักดิ์ แจ้งว่าไม่สามารถมาช่วยงาน รมต. แบบเต็มเวลา แต่ อ.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ซึ่งพอดีเพิ่งกลับจากต่างประเทศ ตอบรับ ทีมงานการเมืองของผมจึงลงตัวอย่างรวดเร็ว

22.00 น. ไปออกรายการ “ช่องห้าหน้าหนึ่ง” ซึ่งถือเป็นรายการทีวีรายแรกที่ออกสดในฐานะรัฐมนตรี
พิธีกร นพ.พงษ์ศักดิ์ ตั้งคณา
สัมภาษณ์ความตั้งใจของ พม.ในช่วง 7 เดือนที่เหลือ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
8 มีนาคม 2550
[1]ส.สงคราม (ประพันธ์) เป็นคนช่างโม้ คุยสนุกและมีวิญญาณนักการเมืองเต็มตัว เขาพูดให้หมู่สหายฟังว่า “ผมเสนอให้หมอพลเดช เป็นรัฐมนตรีตั้งแต่ก่อนตั้งรัฐบาลแล้ว แต่ พล.อ.สุรยุทธ์ จะเอาแต่ขิงแก่”
“ผมไม่ใช่เป็น nominee ของคุณประสงค์ (สุ่นศิริ) แต่ตรงกันข้าม เขาเป็น nominee ของผมมากกว่า หมอพลเดช ใครว่าแกเป็น nominee ของคุณไพบูลย์ (วัฒนธศิริธรรม) ที่จริงแล้วสิ่งที่ไพบูลย์พูดนั้น คนทำ คนคิด คนวางแผน ก็คือหมอพลเดช” แกว่าของแกสนุกปากทีเดียว แม้มีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด หรือใช่ทุกอย่าง
Be the first to comment on "ตอนที่ 28 : จากสามัญชน สู่เสนาบดี"